ตอบข้อสงสัย! คดีอาญาไกล่เกลี่ยได้ไหม สามารถเกลี่ยในชั้นศาลได้หรือไม่?
เมื่อเกิดการกระทำผิด เช่น ทำร้ายร่างกาย ทำลายทรัพย์สิน ขโมย ฯลฯ คู่กรณีนั้นสามารถแจ้งตำรวจและยื่นฟ้องร้องคดีต่อศาล เพื่อดำเนินการเอาผิดกับจำเลยได้ โดยคดีในลักษณะที่กล่าวมา คือ “คดีอาญา” ซึ่งจำเลยนั้นจะมีความผิดทางกฎหมาย
ทั้งนี้ การดำเนินคดีกับชั้นศาลอาจต้องใช้ระยะเวลานานและทรัพย์สินจำนวนมากพอสมควร ซึ่งอาจไม่ตอบโจทย์หลายๆ คน จึงได้เกิดคำถามขึ้นว่า “คดีอาญาไกล่เกลี่ยได้ไหม” ในบทความนี้ THAC จะมาแนะนำให้ทราบกันถึงรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยคดีอาญาในชั้นศาล
คดีอาญาคืออะไร ?
คดีอาญา คือ คดีที่เกี่ยวกับการกระทำผิดและต้องโทษตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายอาญา และกฎหมายอื่นๆ อาทิ พระราชบัญญัติต่าง ๆ ซึ่งมีโทษในทางอาญา โดยผู้เสียหายมีเจตนาฟ้องร้องเพื่อให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการจำคุก กักขัง ปรับ ริบทรัพย์สิน และประหารชีวิต ซึ่งความผิดอะไร ต้องรับโทษแบบไหน ขึ้นอยู่กับความผิดและโทษที่กำหนดเอาไว้ตามแต่ละกรณี
ประเภทของคดีอาญา
1.ความผิดอาญาแผ่นดิน
คือ ผู้ถูกกระทำได้รับผลกระทบโดยตรงและมีผลกระทบต่อสังคมโดยรวม ส่งผลให้รัฐต้องดำเนินคดีและไม่สามารถยอมความได้ แม้ไม่มีการแจ้งความหรือไม่มีผู้เสียหายร้องทุกข์ ทางอัยการสามารถสั่งฟ้องได้ ยกตัวอย่างคดีอาญาแผ่นดิน เช่น ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงความตาย ฉ้อโกงประชาชน บุกรุกในเวลากลางคืนหรือมีอาวุธติดตัวมาขู่เข็ญ และความผิดฐานฆ่าคนตาย เป็นต้น
2.ความผิดต่อส่วนตัว
คือ ผู้ถูกกระทำได้รับผลกระทบโดยตรงแต่ไม่มีผลกับสังคมโดยรวม โดยผู้เสียหายต้องฟ้องร้องดำเนินคดีเอง นับเป็นความผิดที่สามารถยอมความกันได้ เช่น หมิ่นประมาท ทำให้เสียทรัพย์ ฉ้อโกง และยักยอกทรัพย์ เป็นต้น
คดีอาญาไกล่เกลี่ยได้ไหม?
สามารถไกล่เกลี่ยได้ โดยไกล่เกลี่ยคดีอาญาเป็นการระงับข้อพิพาททางเลือกที่สะดวก รวดเร็ว และเป็นธรรมต่อคู่กรณี เนื่องจากการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเป็นการค้นหาข้อตกลงที่ทั้งสองฝ่ายยินยอม ซึ่งหากสามารถเจรจาตกลงกันได้ ก็สามารถทำสัญญาประนีประนอมยอมความ และให้คู่กรณีปฏิบัติตามข้อสัญญาดังกล่าวได้
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าทุกคดีสามารถเจรจาและระงับไปได้ โดยเฉพาะความผิดอาญาแผ่นดินที่ไม่สามารถยอมความได้ทุกกรณี ซึ่งคดีอาญาที่สามารถเจรจายอมความและระงับคดีได้ มีดังนี้
1.ความผิดอันยอมความได้
หรือก็คือความผิดต่อส่วนตัว เช่น คดีฉ้อโกง ที่มักเกิดขึ้นกันบ่อยๆ โดยหลังการไกล่เกลี่ย ผู้เสียหายสามารถทำสัญญากับคู่กรณีเพื่อถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้อง หรือยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย
2.ความผิดลหุโทษ
คือ ความผิดที่เป็นไปตามมาตรา ๒๙๐ ถึงมาตรา ๒๙๕ และ มาตรา ๒๙๗ ดังนี้
- มาตรา ๒๙๐ – ความผิดฐานการทำโดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ
- มาตรา ๒๙๑ – ความผิดฐานใช้กำลังทำร้ายผู้อื่น โดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ
- มาตรา ๒๙๒ – ความผิดฐานทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัว หรือความตกใจ โดยการขู่เข็ญ
- มาตรา ๒๙๓ – ความผิดฐานดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้าหรือด้วยการโฆษณา
- มาตรา ๒๙๔ – ความผิดฐานไล่ ต้อน หรือทำให้สัตว์ใดๆ เข้าในสวน ไร่ หรือนาของผู้อื่นที่ได้แต่งดินไว้เพาะพันธุ์ หรือมีพืชพันธุ์หรือผลผลิตอยู่
- มาตรา ๒๙๕ – ความผิดฐานควบคุมสัตว์ใดๆ ปล่อยปละละเลยให้สัตว์นั้นเข้าในสวน ไร่ หรือนาของผู้อื่นที่ได้แต่งดินไว้เพาะพันธุ์ หรือมีพืชพันธุ์หรือผลผลิตอยู่
- มาตรา ๒๙๗ – ความผิดฐานควบคุมสัตว์ใดๆ ต่อผู้อื่น อันเป็นการรังแก ข่มเหง คุกคาม หรือกระทำให้ได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ
3.ความผิดที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 3 ปี
โดยเป็นไปตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. ๒๕๖๒ ในมาตรา ๒๙๔ วรรคหนึ่ง มาตรา ๒๙๕ มาตรา ๒๙๖ มาตรา ๒๙๙ และมาตรา ๓๐๐ ทั้งนี้ การที่จำเลยจะจ้างทนายไกล่เกลี่ยความผิดในข้อนี้ได้ ต้องเป็นผู้ที่ไม่เคยได้รับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญามาก่อน ยกเว้นแต่เป็นคดีที่กระทำโดยประมาท และผู้ต้องหาไม่อยู่ระหว่างต้องคำพิพากษาถึงที่สุด ให้จำคุกหรือพ้นโทษมาแล้วเกิน 5 ปี หรือผู้ต้องหาเป็นผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี
การไกล่เกลี่ยคดีอาญาในชั้นศาลมีขั้นตอนอะไรบ้าง?
ศาลยุติธรรมเห็นว่าการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทสามารถลดปริมาณคดีในศาลอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังเปิดโอกาสให้คู่กรณีเจรจาตกลงหรือเยียวยาความเสียหายเพื่อระงับคดีได้อย่างสะดวก
หากคู่กรณีทั้งสองฝ่ายสมัครใจไกล่เกลี่ย ก็สามารถยื่นคำร้องขอไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญากับพนักงานสอบสวน หากพนักงานสอบสวนเห็นชอบ ต่อไปจะมีการจัดประชุมเพื่อเลือกจ้างทนายไกล่เกลี่ย จากนั้นพนักงานสอบสวนจะนัดไกล่เกลี่ยคดีอาญา โดยคู่กรณีต้องเข้าร่วมการไกล่เกลี่ยด้วยตัวเองและให้คนที่ไว้ใจเข้าร่วมฟังการไกล่กเกลี่ยได้ไม่เกิน 2 คน หลังจากเจรจาหาข้อตกลงได้แล้ว ผู้ไกล่เกลี่ยจะบันทึกข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษร ให้คู่กรณีลงลายเซ็น และส่งต่อไปยังพนักงานสอบสวนต่อไป